“mRNA” เทคโนโลยีอนาคต..ปั้นวัคซีนสู้มะเร็ง
หลังประสบความสำเร็จจากการต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโควิด -19 เทคโนโลยี mRNA ก็กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง และล่าสุด อังกฤษก็ได้เริ่มแผนการท้าทายในการวิจัยวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันมะเร็ง ร่วมกับไบโอเอ็นเทค (BioNTech) บริษัทยาของเยอรมนี
สตีฟ บาร์เคลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคมของสหราชอาณาจักร บอกว่า ไบโอเอ็นเทคเป็นผู้นำโลกในเรื่องวัคซีนโควิด-19 และมีพันธสัญญาเหมือนกันกับอังกฤษในเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดยทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันตั้งแต่เดือน ก.ย.2566 เป็นต้นไป และนั่นหมายความว่าคนไข้มะเร็งกลุ่มแรกในอังกฤษ จะได้เข้าร่วมการทดลองและทดสอบในการรับการรักษาที่แม่นยำ มีความเฉพาะตัวและเจาะจง โดยเป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงการรักษาทั้งมะเร็งที่เป็นอยู่และการป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง
mRNA ย่อมาจาก Messenger Ribonucleic Acid เป็นเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ ที่ลงลึกถึงระดับโมเลกุล จากเดิมที่ใช้โปรตีนของไวรัส หรือใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแอฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ซึ่งความร่วมมือระหว่างอังกฤษและเยอรมนีในครั้งนี้ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีเดียวกันนี้มาทำการทดลองวัคซีนกับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง โดยตั้งเป้าการรักษาในผู้ป่วยประมาณ 10,000 คน ภายในปี 2030
ศาสตราจารย์เอิซเลม ทูเรชี ผู้ร่วมก่อตั้งไบโอเอ็นเทค บอกว่า อังกฤษเป็นชาติแรกที่ลงนามในความร่วมมือนี้ ขณะที่ไบโอเอ็นเทคอยู่ระหว่างการทดลองวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งหลายชนิดกับหลายชาติ แต่สำหรับอังกฤษ ถือเป็นประเทศที่อยู่ในจุดที่เหมาะสม เพราะมีประวัติและโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับการวิจัยทางการแพทย์ โดยเฉพาะขีดความสามารถในการวิเคราะห์จีโนมซึ่งอังกฤษเป็นผู้นำทางด้านนี้มาก่อน
“คนไข้บางส่วนที่เข้าร่วมการทดลองจะเป็นคนไข้ที่เคยเป็นมะเร็งมาก่อนและได้รับการรักษาหายแล้ว และหวังว่า วัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขากลับมาเป็นมะเร็งอีก ส่วนคนไข้คนอื่นๆคือคนไข้ที่มีมะเร็งลุกลามและแพร่กระจาย โดยวัคซีนอาจช่วยลดการลุกลามและควบคุมมะเร็งได้” ทูเรชีบอก
การรักษาแบบ mRNA จะแตกต่างจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด ที่สามารถโจมตีเซลล์ต่างๆจำนวนมากรวมถึงมะเร็ง แต่การรักษาแบบ mRNA จะเป็นการออกแบบมาเฉพาะบุคคล และนำรหัสพันธุกรรมจากมะเร็งที่เฉพาะเจาะจงมาใส่ในระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้สามารถโจมตีเฉพาะเนื้องอกได้
“แนวคิดนี้คือ การใช้คุณลักษณะทางโมเลกุลที่เฉพาะเจาะจงในมะเร็งแต่ละเซลล์ของผู้ป่วย เพื่อนำไปเข้ารหัสในวัคซีน mRNA เพื่อฝึกให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตี เหมือนกับการติดประกาศจับ หรือการให้เงินรางวัลนำจับ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเตรียมพร้อมและต่อสู้ เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน คนไข้อาจจะต้องได้รับวัคซีนหลายโดสเพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลา” ผู้ร่วมก่อตั้งไบโอเอ็นเทคอธิบาย
นักวิทยาศาสตร์ของไบโอเอ็นเทคบอกว่า แน่นอนที่การรักษาด้วยวิธีนี้จะมีราคาสูงขึ้น แต่ก็เชื่อว่า ระบบสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรน่าจะสามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ได้ หากมีเหตุผลที่ชอบธรรม โดยเฉพาะสำหรับสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service-NHS) ของสหราชอาณาจักร
ภายหลังข่าวความร่วมมือดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป สตีฟ บาร์เคลย์ รมว.สาธารณสุขและการดูแลสังคมของสหราชอาณาจักร ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ในทันทีที่มีการตรวจพบมะเร็ง ต้องมั่นใจว่าสามารถใช้วิธีการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงมะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม สอดคล้องกับความเห็นขององค์กรวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) ที่แสดงความยินดีกับข่าวนี้
โดย ดร.เอียน ฟอล์กส์ โฆษกขององค์กรวิจัยมะเร็งของสหราชอาณาจักร บอกว่า การวินิจฉัยและการรักษาที่ล่าช้าจะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเพิ่มขึ้น และอาจจะไม่สามารถหาเวลาที่ต้องใช้ในการจัดการทดลองทางการแพทย์ได้ ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปก็จะทำให้กระบวนการหาวิธีการรักษาใหม่เกิดความล่าช้าลงไปอีก
“วัคซีน mRNA เป็นหนึ่งในการพัฒนางานวิจัยที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่ออกมาในช่วงการระบาดใหญ่ และมีแววที่ชัดเจนว่า พวกมันอาจจะกลายเป็นทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างดี แต่ก็ยังคงต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก” ดร.ฟอล์กส์กล่าว.
อ่านเพิ่มเติมหรือติดตาม ได้ที่นี่ >>> Apple จดทะเบียนระบบปฏิบัติการ xrOS สำหรับแว่นตา AR